โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ประวัติความเป็นมา
เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๙๖ – ๒๕๐๐ พระพิมลธรรม (อาจ อาสภมหาเถร) สังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง (สมัย พ.ร.บ. การปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๔๘๔) อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ องค์ทุติยสภานายกมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์(ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย) ได้เดินทางไปดูกิจการพระพุทธศาสนาที่ประเทศพม่าและประเทศศรีลังกา เห็นพระสงฆ์ในประเทศนั้นๆ จัดระบบการสอนศีลธรรมแก่เด็กและเยาวชนได้ผลดีมาก และจัดการสอนเฉพาะวันอาทิตย์ เมื่อเดินทางกลับมา จึงได้ปรารภถึงการสอนศีลธรรมของพระสงฆ์ในประเทศพม่าและประเทศศรีลังกาแก่เจ้าหน้าที่บริหารและพระนิสิตมหาวิทยาลัยและดำริว่า “โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ สมควรที่จะได้จัดให้มีขึ้นในประเทศไทยบ้าง เพราะว่าเด็กและเยาวชน มีความสนใจในพระพุทธศาสนาอยู่แล้วซึ่งจะให้เป็นกำลังของพระพุทธศาสนาต่อไปและยังเป็นการส่งเสริมในด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาอีกประการหนึ่งอีกทั้งเป็นการให้โอกาสแก่เด็กและเยาวชนได้ศึกษาและรู้จักหลักธรรมในพระพุทธศาสนาได้ถูกต้องตามสมควรแก่วัยของตน”
๑. สาเหตุการจัดตั้งโรงเรียน
สมัยนั้นแผนกธรรมวิจัย (ปัจจุบันฝ่ายธรรมวิจัย) มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้มีการบรรยายธรรม ฝึกสมาธิให้แก่บุคคลทั่วไปในวันอาทิตย์ และวันธรรมสวนะเป็นประจำ ปรากฏว่ามีข้าราชการ พ่อค้าประชาชนทั่วไปได้มาสนใจฟังและฝึกสมาธิเป็นจำนวนมาก บรรดาบุคคลเหล่านั้นได้นำบุตรหลานของตนมาด้วยพระเจ้าหน้าที่และพระนิสิตของมหาวิทยาลัยได้นำเด็กเหล่านั้นซึ่งพากันมาวิ่งเล่นบริเวณลานอโศก วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ มาเล่านิทานให้ฟังบ้างสอนธรรมะบ้าง เด็กเหล่านั้นมีความสนใจมากประกอบกับขณะนั้นโรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ได้อาราธนาพระเจ้าหน้าที่และพระนิสิตของมหาวิทยาลัยไปสอนธรรมะ และอบรมศีลธรรมแก่นักเรียนและนักศึกษาเป็นประจำจนกระทั่งปัจจุบัน ทำให้เด็กและเยาวชนมีความสนใจพระพุทธศาสนามากยิ่งขึ้น พระเจ้าหน้าที่ และพระนิสิต ของมหาวิทยาลัยจึงได้เสนออนุมัติต่อทางมหาวิทยาลัยเพื่อเปิดสอนโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ขึ้นเมื่อทางมหาวิทยาลัยได้อนุมัติ ให้เปิดสอนได้ โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้เปิดทำการสอนขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๐๑ ซึ่งเป็นโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์แห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานขึ้นตรงต่อแผนกธรรมวิจัย โดยมีจุดมุ่งหมาย เพื่อให้การศึกษาอบรมศีลธรรมแก่กุลบุตรกุลธิดา ให้ความรู้ด้านพระพุทธศาสนา และเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ได้ประกาศตั้งแผนกหนึ่งต่างหากต่อมามีประกาศมหาวิทยาลัย กำหนดฐานะให้เป็นโรงเรียนมีระบบการบริหารงานเป็นของตนเอง ปัจจุบันสังกัดสำนักส่งเสริมพระพุทธศาสนาและบริการสังคม ทุกปีการศึกษามีจำนวนนักเรียน นักศึกษา เพิ่มขึ้นตามลำดับ ปัจจุบันมีโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ทั่วประเทศ จำนวน ๑๗๘ สาขา
๓. ที่ตั้งโรงเรียน
โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วัดมหาธาตุฯ ถนน มหาราช แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร รหัสไปรษณีย์ ๑๐๒๐๐
๔. ปรัชญาโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์
ปญฺญา โลกสฺมิ ปชฺโชโต ปัญญาเป็นแสงสว่างในโลก
๕. ปณิธานของโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์
ศึกษาวิชาการทางด้านพระพุทธศาสนา และอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย
๖. พันธกิจของโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์
บริการวิชาการทางด้านพระพุทธศาสนาแก่เด็กเยาวชนประชาชนทั่วไป
และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมไท
๗. นโยบายโรงเรียน
โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณวิทยาลัย เป็นโรงเรียนที่เปิดสอนโดยไม่เก็บค่าบำรุงการศึกษาใดๆ โดยสอนเป็นวิทยาทาน ด้านการเรียนการสอน เน้นหนักไปทางภาคปฏิบัติ ยึดหลัก ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ และปัญญา เป็นแกน
๘. วัตถุประสงค์
๑. เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีความรู้ศาสนาธรรมและรู้จักพระพุทธศาสนา
ตามสมควรแก่วัยของตน
๒. เพื่อเสริมความรู้ และปลูกฝัง ศีลธรรม วัฒนะธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี
อันดีงามของไทยแก่เด็กและเยาวชน
๓. เพื่อให้เด็กและเยาวชนรู้จักการดำเนินชีวิตตามหลักธรรมแห่งพระพุทธศาสนา
๔. เพื่อให้เด็กและเยาวชนรู้จักบำเพ็ญสาธารณประโยชน์รู้จักรับผิดชอบต่อตน
เองและต่อส่วนรวม
๕. เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้มีความรู้ทางพระพุทธศาสนาภาษาอังกฤษ
๖. เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนา
๙. อุดมการณ์ของโรงเรียน
มารยาทดี มีระเบียบวินัย
ใฝ่ใจศึกษาธรรม นำไปปฏิบัติโดยชอบ
ประกอบด้วยความขยัน หมั่นพิจารณา
ขวนขวายสร้างความเจริญ เพลินในการปฏิบัติ
ขจัดความชั่วทุกชนิด คิดข่มใจเป็น
เห็นจริงจึงเชื่อ เอื้อเฟื้ออารี
มีใจอดทน พึ่งตนตลอดไป
๑๐. คำขวัญประจำโรงเรียน
ตั้งใจเรียนดี มีระเบียบวินัย ใฝ่คุณธรรม นำทางถูก ปลูกศรัทธา มารยาทดี เป็นศรี พอ.มจร
๑๑. สีประจำโรงเรียน
สีชมพู หมายความว่าเป็นสีแห่งสัญลักษณ์ประจำพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พระผู้ทรงสถาปนามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งคณะสงฆ์ไทย
๑๒. สัญลักษณ์ของโรงเรียน
เป็นรูปพระมงกุฎมาลาวางอยู่บนหมอนสีชมพูอันเป็นสีสัญลักษณ์ประจำรัชกาลที่ ๕ มีกงล้อธรรมจักรอันหมายถึงการนำธรรมเข้าสู่จิตใจประชาชนและมีรัศมีล้อมรอบพระมงกุฎมาลาและธรรมจักร หมายถึง พระเดชานุภาพในรัชกาลที่ ๕ ที่แผ่ไปทั่วขอบขัณฑสีมาและอานุภาพของพระธรรมอันเป็นเครื่องนำทางสู่ความสว่างไสวในชีวิต
๑๓. แผนยุทธศาสตร์และแผนการดำเนินการ
๑. แผนการพัฒนาโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
๒. แผนการจัดการเรียนการสอน
๓. แผนการพัฒนาหลักสูตร
๔. แผนการผลิต/พัฒนาสื่อการสอน
๕. แผนการนิเทศอาจารย์สอนโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์